วันจันทร์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2555


ความเป็นมาของ
ห้องภาพ   เมืองสุรินทร์
เริ่มดำเนินการ  เมื่อวันที่  24  กันยายน  พ.ศ.2551
โดย  สำนักงานจังหวัดสุรินทร์
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน  วิทยาเขตสุรินทร์  และกลุ่มสุรินทร์สโมสร
..............................................................................................................................................

            ย้อนกลับไป ก่อน ปี พ.ศ.2547  กระแสเรื่องราวของการเก็บรวบรวมภาพเก่า  และเรื่องเล่าจากตัวบุคคลในท้องถิ่น  ยังไม่มีผู้ให้ความสำคัญมากนัก  กลุ่มคนเล็กๆ  ที่สนใจเรื่องราวทางประวัติศาสตร์จากคำบอกเล่า  ได้รวมตัวกันอย่างหลวมๆ  เก็บเรื่องราวและประสบการณ์ของผู้คนในครอบครัวและใกล้ตัวมาแลกเปลี่ยนกัน  ด้วยแนวคิดที่ว่า  อยากรู้เรื่องบ้านของตนเอง  ทำไมต้องไปถามคนที่อยู่ที่อื่น  ทั้งๆ ที่คนที่จะบอกเล่าเรื่องราวของท้องถิ่นได้ดีที่สุด  ก็น่าจะเป็นคนท้องถิ่นเอง  แม้ว่าการเล่าเรื่องราวจากประสบการณ์ของแต่ละคนจะมีมุมมองที่แตกต่างกัน  แต่การได้มีเวทีเล็กๆ  แลกเปลี่ยนกันก็สามารถทำให้สกัดข้อมูล  และสังเคราะห์  วิเคราะห์เรื่องราว  วิถีชีวิตของผู้คนในแต่ละช่วงของเวลาออกมาได้
            จากความสนในเรื่องราวจากคำบอกเล่า  นำมาสู่การรื้อแฟ้มภาพเก่าๆ ข้าวของ เครื่องใช้เก่าๆ  ของแต่ละบ้านออกมา  เพื่อเป็นเครื่องมือในการฟื้นความทรงจำของผู้เฒ่าผู้แก่  แต่ละท่าน  เริ่มต้นจาก 1 ภาพ เป็น 10 ภาพ เป็น 100 ขยายขอบเขตแนวคิด  และแนวร่วมจากคนท้องถิ่นมากขึ้นตามลำดับ
ในปี พ.ศ.2547  สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชดำริถึงคุณค่าของภาพเก่าไว้ว่า  ภาพเก่าจะสามารถบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ  ได้เอง  โดยไม่ต้องอาศัยคำบรรยายมากนัก  ถ้าทำได้ ควรจะสอดส่องหาภาพต่างๆ  ในอดีตทั้งใกล้และไกลมาเก็บไว้  พยายามขอจากคนมีภาพ  ถ้าเจ้าของไม่มอบให้เป็นสมบัติของหอจดหมายเหตุ  ก็พยายามขอยืมถ่ายสำเนาเอาไว้  ค่อยศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับภาพให้ดีที่สุด  โดยค้นจากเอกสารและสอบถามจากผู้รู้หลายๆ  ท่าน  สอบทานกัน” (“สยามประเทศ”, มติชนรายวัน, 11 มิถุนายน 2547)
พระราชดำริอันเป็นสิริมงคลนี้ก็คือ  แนวทางการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นจาก  ภาพเก่า”  และ  เรื่องเล่า นั่นเอง  การศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นจากภาพเก่าและเรื่องเล่า  เป็นแนวทางการศึกษาที่ค่อนข้างใหม่สำหรับแวดวงการศึกษาด้านประวัติศาสตร์  ทั้งในแง่ของการเก็บข้อมูลจากคำบอกเล่าเรื่องราวของผู้คนในท้องถิ่น อันเป็นการเริ่มใช้   พยาน  (เรื่องเล่าของบุคคล) มาประกอบกับ  หลักฐาน (ภาพเก่า)  ที่เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์  ยิ่งไปกว่านั้นการเล่าเรื่องราวของ  ท้องถิ่น”  โดยคนในท้องถิ่น ก็ยังเป็นเรื่องค่อนข้างใหม่เช่นกัน  ทั้งนี้เพราะโดยส่วนใหญ่เรื่องราวประวัติศาสตร์ของชาติไทยมักเป็นเรื่องของบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์แห่งชาติ และราชวงศ์ต่างๆ  การหันมาให้ความสำคัญกับคนในท้องถิ่นและเรื่องราวของท้องถิ่นจึงเป็นการเริ่มต้นของการยอมรับความหลากหลายของท้องถิ่นที่ประกอบกันขึ้นมาเป็นราชอาณาจักรไทย
นอกจากนี้ การศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นจากภาพเก่าและเรื่องเล่า  ยังเป็นการทำให้ลูกหลานในยุคปัจจุบันได้เริ่มเรียนรู้และเห็นความสำคัญของรากเหง้าเผ่าพันธุ์  อันนำไปสู่การสร้างสำนึกของความผูกพันและรักท้องถิ่นแผ่นดินเกิด โดยการกลับมาค้นหา  พลังและคุณค่าของท้องถิ่น ที่เคยมีมาแต่ครั้งบรรพบุรุษ ไม่ว่าจะเป็นความรู้ภูมิปัญญา วัฒนธรรมประเพณี      
ฐานทรัพยากร  และสายใยความผูกพันของผู้คน  ซึ่งจะเป็นพลังสำคัญในการพัฒนาท้องถิ่นต่อไปในอนาคต
            กล่าวได้ว่า การศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นจาก ภาพเก่า  และ เรื่องเล่า เป็นการศึกษาประวัติศาสตร์บอกเล่า (มุขปาฐะ)  เป็นข้อมูลจากประสบการณ์  ความทรงจำของบุคคล และความทรงจำร่วมของชุมชน  นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างกระแสเกี่ยวกับจิตสำนึกให้เกิดความรักความภูมิใจต่อท้องถิ่น  ดังปรากฏในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยกล่าวถึงบุคคลซึ่งร่วมกันเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมย่อมมีสิทธิอนุรักษ์และฟื้นฟูจารีตประเพณี  ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะ และวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่นและของชาติ
ในช่วงระยะเวลา 100 ปีที่ผ่านมา  เมืองสุรินทร์ได้มีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงอย่างขนานใหญ่หลายประการ  ทั้งด้านเศรษฐกิจ  สังคม  การเมือง  ตลอดจนวิถีการดำรงชีวิต  โดยมีเหตุการณ์ที่สำคัญเกิดขึ้นหลายเหตุการณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการสร้างทางรถไฟมาถึงเมืองสุรินทร์ ในปี  พ.. 2469
            อย่างไรก็ดี ในปัจจุบัน  ภาพเก่าและเรื่องเล่าของเมืองสุรินทร์ได้กระจัดกระจายอยู่กับครอบครัวต่างๆ  และเอกสารเก่าจำนวนหนึ่ง และอีกจำนวนไม่น้อยได้สูญหายไปตามกาลเวลา (เพลิงไหม้บ้าง  น้ำท่วมบ้านเรือนบ้าง  ปลวกกินบ้าง  สูญหายบ้าง)  อีกทั้งข้อมูลเกี่ยวกับภาพเก่า ก็ยังมิได้มีการประมวลและเรียบเรียงให้เป็นชุดความรู้ท้องถิ่นอย่างเป็นระบบจริงจัง
            ด้วยเหตุนี้ จึงมีการจัดงาน  ภาพเก่า  เล่าเรื่อง  เมืองสุรินทร์  ขึ้นครั้งแรก เมื่อเดือน กรกฏาคม  พ.ศ. 2547  และจัดอีก 4 ครั้งที่เวทีไผทสราญ,  จัด 3  ครั้งที่สถานีรถไฟจังหวัดสุรินทร์  และจัดเป็นกิจกรรมเรื่องเล่าเสริมทักษะเรื่องการอ่าน  การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ของนักเรียนรุ่นเก่ากับรุ่นใหม่ตามโรงเรียนในจังหวัดสุรินทร์ และร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ อีก 13  ครั้ง  รวม  21  ครั้ง จาก ปี พ.ศ.2547 ถึง ปี พ.ศ. 2551  ส่วนหนึ่งเพื่อเป็นการเผยแพร่ข้อมูลที่ได้รวบรวมมาได้ออกเป็นชุดข้อมูล  ชุดนิทรรศการ  เป็นประโยชน์ต่อคนท้องถิ่นและผู้ที่สนใจ  นอกจากนี้ยังมีการจัดกิจกรรม  เรื่องเล่า  ชาวคุ้มวัด  เพื่อรวบรวมเรื่องราว  เรื่องเล่า  ของผู้เฒ่าผู้แก่  ในแต่ละคุ้มวัด  การจัดงานเหล่านี้ได้รับการตอบรับอย่างดีเยี่ยมจากคนในท้องถิ่น  แม้ว่างานจะไม่ยิ่งใหญ่  จัดได้ตามกำลังที่กลุ่มคนเล็กๆ  พึงทำได้เท่านั้น
ในปี พ.ศ.2551  นายพูลศักดิ์  ประณุทนรพาล ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ขณะนั้น เห็นว่าการจัดงานกิจกรรมที่ต่อเนื่องของคนกลุ่มเล็กๆ  นี้ มีประโยชน์และคุณค่าต่อท้องถิ่น จึงได้ประสานจนเกิดโครงการจัดทำ  ห้องภาพ  เมืองสุรินทร์  ขึ้น  เพื่อเป็นพื้นที่จัดแสดงภาพ  และเรื่องเล่าอย่างถาวร  เพื่อเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้และเผยแพร่องค์ความรู้ท้องถิ่นนี้ให้กับผู้คนในท้องถิ่น และผู้ที่สนใจโดยทั่วไป  ซึ่งจะทำให้คนในยุคปัจจุบันได้ตระหนักถึงความสำคัญของรากเหง้าเผ่าพันธุ์ของตนเอง ดังคำกล่าวที่ว่า  ถิ่นเกิดกำเนิดเนา รากเหง้ากำหนดงาม  อันนำไปสู่การสร้างสำนึกของความผูกพันและความรักต่อท้องถิ่นอย่างยั่งยืน 
จึงเกิด  ห้องภาพ  เมืองสุรินทร์  ขึ้นโดยความร่วมมือของสามส่วนคือ  สำนักงานจังหวัดสุรินทร์  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน  วิทยาเขตสุรินทร์  และ กลุ่มสุรินทร์สโมสร  ซึ่งในเบื้องต้น  ได้จัดหาเงินทุนเพื่อปรับปรุงอาคารซึ่งเป็นกระจกทุกด้าน  เพื่อให้มีช่องทางระบายอากาศ  และบุผนังไม้  เพื่อให้สามารถจัดแสดงภาพได้   เป็นเงินจำนวน                 บาท และได้อนุมัติ  งบประมาณไว้เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดทำชุดนิทรรศการ  อัดขยายภาพ  หมุนเวียนตามวาระ  และจัดกิจกรรมเสวนา  จำนวน  120,000  บาท  ในปี  2551-2552

การดำเนินงานช่วงที่ผ่านมา
            ในระยะเวลา   1  ปี  9  เดือน  ที่ห้องภาพ  เมืองสุรินทร์  ได้เปิดทำการอย่างเป็นทางการ  ได้ดำเนินงานภายในห้องภาพ  เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องของข้อมูล  และการเผยแพร่ความรู้  ดังนี้

          การจัดทำข้อมูลและชุดความรู้
1.  การเก็บข้อมูล  สัมภาษณ์  บันทึกภาพ  เรื่องเล่า 
2.  การค้นหาภาพถ่าย และเอกสารเก่า  จากครอบครัวต่างๆ  จัดทำสำเนา  รวมถึงสัมภาษณ์ผู้ที่ทราบเหตุการณ์เกี่ยวกับภาพ  หรือเหตุการณ์ในช่วงเวลานั้นๆ
3.  การจัดกิจกรรมเสวนา  ที่ห้องภาพ  เมืองสุรินทร์  และในชุมชน  เช่น  จัดงานเล่าเรื่องงานช้างเมืองสุรินทร์  ที่ ห้องภาพ  เมืองสุรินทร์  ,  เสวนากลุ่มเล็ก  ในชุมชนบ้านทุ่งมนเกี่ยวกับการค้าขายในอดีตของชุมทางบ้านทุ่งมน  เป็นต้น
4.  การจัดทำนิทรรศการชุดความรู้เรื่อง  ในหลวง-ราชินีเสด็จฯ  เมืองสุรินทร์  , งานช้างเมืองสุรินทร์, เมืองสุรินทร์ในสมัยวัฒนธรรมขอม  เป็นต้น


การเผยแพร่งาน
1.  การจัดแสดงภาพถ่ายและสิ่งของ  ที่ห้องภาพ  เมืองสุรินทร์  โดย การหมุนเวียนภาพถ่าย  ที่ได้มาจากครอบครัวต่างๆ ในจังหวัด  หรือบางภาพได้จากการค้นคว้าเอกสารเก่า  หรือเอกสารที่เกี่ยวข้อง
2.  เผยแพร่นิทรรศการชุดความรู้ที่ห้องภาพ  เมืองสุรินทร์
3.  เผยแพร่ชุดความรู้  เรื่องเล่า  นิทาน  และข้อมูลอื่นๆ  ผ่านรายการวิทยุ เก็บเรื่องราว  มาเล่าเรื่อง  ทางสถานีวิทยุชุมชนไตรรงค์  94.0  MHz  ทุกวันเสาร์และอาทิตย์  เวลา  08.00  น.-09.00  น.
4.  เผยแพร่ข้อมูลผ่านหนังสือ  สุรินทร์สโมสร 
5.  เผยแพร่ข้อมูลผ่าน www.oknation.net/blog/surin-samosorn

การใช้ประโยชน์
ในระยะเวลาที่ผ่านมา  ห้องภาพ  เมืองสุรินทร์  มีกลุ่มผู้เข้าชมเฉลี่ยเดือนละ  400  คน    ดังนี้
1.  กลุ่มนักเรียนนักศึกษา  และคณะครูอาจารย์   จากโรงเรียนในจังหวัดสุรินทร์  และจังหวัดใกล้เคียง  คิดเป็นร้อยละ  40  ของผู้เข้าชม
2.  คณะนักท่องเที่ยว  ครอบครัวทั้งชาวสุรินทร์   และที่อื่นๆ   คิดเป็นร้อยละ  35 ของผู้ เข้าชม
3.  การแลกเปลี่ยนแนวคิดและข้อมูลทางวิชาการ  และการศึกษาข้อมูล  กับกลุ่มนักวิชาการ  นักวิจัย  สถาบันทางวิชาการต่างๆ  เช่น  ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร  , มิวเซี่ยมสยาม  เครือข่ายพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น จังหวัดลำพูน   เป็นต้น  คิดเป็รร้อยละ  15  ของผู้เข้าชม
4.  กลุ่มหน่วยงานจากจังหวัดอื่นๆ  เช่น  เทศบาลบุรีรัมย์   คณะผู้อาวุโสชาว  อำเภอกันทราลักษณ์  จังหวัดศรีสะเกษ  กลุ่มเยาวชนจากจังหวัดแม่ฮ่องสอน  กลุ่มอาสาสมัครทางสังคมจากกรุงเทพมหานคร  เป็นต้นมาศึกษางาน  คิดเป็นร้อยละ 10  ของผู้เข้าชม

นอกจากนี้ห้องภาพ  เมืองสุรินทร์  ยังเป็นจุดเชื่อมโยงข้อมูลที่คณะครูอาจารย์ผู้สอนวิชาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น  มาขอข้อมูล  หรือสอบถามเกี่ยวกับแหล่งข้อมูลต่างๆ  อีกด้วย

ข้อขัดข้องบางประการ
1.  บุคลากร ต้องทำงานอื่นๆ เพื่อมีรายได้เลี้ยงชีพ 
2.  ขาดงบประมาณในการทำกิจกรรม  ลงเก็บข้อมูล  ทำให้ข้อมูลบางส่วนไม่สมบูรณ์เพียงพอที่จะจัดทำเป็นชุดความรู้หมุนเวียน
3.  ขาดความต่อเนื่องของกิจกรรมและการประชาสัมพันธ์

สิ่งที่คาดหวังในอนาคต
1.  มีกิจกรรมที่ต่อเนื่อง  ที่ห้องภาพ  เมืองสุรินทร์  อาจจะเป็นงานแลกเปลี่ยนเชิงวิชาการกับคณะครูอาจารย์ในท้องถิ่น  ซึ่งจะมีส่วนช่วยเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับท้องถิ่นให้กับคณะครูอาจารย์  สอดคล้องกับการเสริมสร้างหลักสูตรของท้องถิ่น  หรือ  กิจกรรมนิทรรศการตามวาระที่เหมาะสม
2.  เกิดเครือข่ายการเรียนรู้แลกเปลี่ยน เรียนรู้องค์ความรู้  ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นจังหวัดสุรินทร์  โดยมี ห้องภาพ  เมืองสุรินทร์  เป็นจุดเชื่อมโยงตรงกลาง หรือเป็นพี่เลี้ยงในการทำงานของแต่ละพื้นที่ แต่ละโรงเรียน  (หากคณะผู้บริหารงานห้องภาพ  เมืองสุรินทร์  เห็นชอบ คณะทำงานขอนำเสนอในวาระที่เหมาะสม)  ซึ่ง  ณ  เวลานี้  ห้องภาพ  เมืองสุรินทร์  เสมือนต้องมีบทบาทนี้กลายๆ  โดยปริยายไปแล้ว
3.  บุคลากรสามารถทำงานศึกษาข้อมูลได้อย่างเต็มที่  เนื่องจากภาพเก่าเมื่อประกอบด้วยเรื่องราว  จึงจะสามารถเข้าใจเรื่องราวของผู้คนได้อย่างชัดแจ้ง
4.  การจัดสัดส่วนพื้นที่  การจัดแสดงห้องภาพ  เมืองสุรินทร์ที่เหมาะสม  ให้มีความร่มรื่น  เนื่องจากที่ผ่านมา  อาคารห้องภาพ  เมืองสุรินทร์  เป็นอาคารกระจก  กลางแจ้ง  ไม่มีต้นไม้ใหญ่ให้ที่ความร่มรื่น  เมื่อมีลมแรง  ก็จะพัดสิ่งของบอร์ดนิทรรศการรุนแรงมาก  ฝนตกน้ำรั่วซึมเข้าภาพใน  แสงแดดที่จัดจ้าทำให้ภาพซีดและหลุด  ก่อให้เกิดความเสียหายต่อภาพ  และสิ่งของ 
5.  มีงบประมาณในการจัดการบริหารห้องภาพ  ทั้งในแง่บุคลากร   การจัดกิจกรรมต่างๆ  และการประชาสัมพันธ์  อย่างต่อเนื่อง


………………………………